Subject-verb agreement เป็นอีกหนึ่งหัวข้อแกรมม่าภาษาอังกฤษที่สำคัญ ที่ถึงแม้จะไม่ยาก แต่ก็มีรายละเอียดเยอะ
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่า subject-verb agreement คืออะไร หรือยังไม่ค่อยชำนาญกับการใช้ ในบทความนี้ ชิววี่ก็ได้ทำสรุปพร้อมกฏการใช้ 12 ข้อ มาให้ได้เรียนรู้กันแบบง่ายๆแล้ว ถ้าเพื่อนๆพร้อมแล้ว เราไปดูกันเลย
Subject-verb agreement คืออะไร
Subject-verb agreement คือการใช้ประธานและคำกริยาให้สอดคล้องกันตามหลักแกรมม่า ซึ่งก็คือ
- ถ้าประธานเป็นเอกพจน์ (มีจำนวนหนึ่งหน่วย) เราจะต้องใช้คำกริยารูปเอกพจน์ (เช่น is, does, has, คำกริยารูปที่เติม s/es)
- ถ้าประธานเป็นพหูพจน์ (มีจำนวนตั้งแต่สองหน่วยขึ้นไป) เราจะต้องใช้คำกริยารูปพหูพจน์ (เช่น are, do, have, คำกริยารูปที่ไม่ได้เติม s/es)
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น
My cat is cute.
แมวของฉันนั้นน่ารัก
(คำว่า my cat เป็นเอกพจน์ หมายถึงแมวตัวเดียว เราจึงต้องใช้คำกริยารูปเอกพจน์ ซึ่งในที่นี้ก็คือ is)
My cats are cute.
บรรดาแมวของฉันนั้นน่ารัก
(คำว่า my cats เป็นพหูพจน์ หมายถึงแมวหลายตัว เราจึงต้องใช้คำกริยารูปพหูพจน์ ซึ่งในที่นี้ก็คือ are)
(คำว่า subject แปลว่า “ประธาน” คำว่า verb แปลว่า “คำกริยา” ส่วนคำว่า agreement นั้นแปลว่า “ข้อตกลง” พอใช้รวมกัน คำว่า subject-verb agreement จึงแปลว่า “ข้อตกลงระหว่างประธานและคำกริยา” ซึ่งก็หมายถึงความสอดคล้องกันในทางแกรมม่าระหว่างประธานและคำกริยานั่นเอง)
ต้องใช้ตอนไหนบ้าง
หลักๆแล้ว subject-verb agreement จะถูกใช้ใน present tense ที่ไม่มี modal verb (ตัวอย่าง modal verb ก็อย่างเช่น can, could, will, would, may, might)
ยกตัวอย่างประโยคที่เป็น present tense และไม่มี modal verb ก็อย่างเช่น
She drinks coffee every day.
เธอดื่มกาแฟทุกวัน
They drink coffee every day.
พวกเขาดื่มกาแฟทุกวัน
นอกจาก present tense แล้ว เราจะต้องคำนึงถึง subject-verb agreement ด้วยเช่นกัน เมื่อเราใช้ tense ที่ใช้ was/were
อย่างเช่น past continuous tense
She was doing her homework when I called her.
เธอกำลังทำการบ้านอยู่ ตอนที่ฉันโทรหาเธอ
They were reading books when I arrived.
พวกเขากำลังอ่านหนังสืออยู่ ตอนที่ฉันมาถึง
หรือ past simple tense ที่มี verb to be (ซึ่งก็คือ was, were) เป็นคำกริยาหลัก
She was very happy when she received the present.
เธอมีความสุขมากตอนที่เธอได้รับของขวัญ
They were my classmates in college.
พวกเขาเป็นเพื่อนร่วมคลาสของฉันตอนเรียนมหาวิทยาลัย
ตัวอย่างกรณีที่ไม่ต้องใช้ subject-verb agreement ก็อย่างเช่น
เมื่อเราใช้ modal verb ในประโยค (เช่น can, could, will, would, may, might) เราจะต้องใช้คำกริยาหลักเป็นรูปพหูพจน์เสมอ
He can swim.
เขาสามารถว่ายน้ำได้
(เราจะไม่ใช้ He can swims.)
หรือเมื่อเราใช้ tense ที่มีการเปลี่ยนรูปคำกริยา เช่น past tense เราก็ต้องใช้รูปคำกริยาตามที่ tense นั้นกำหนดแทน
He called me yesterday.
เขาโทรหาฉันเมื่อวาน
(เราจะไม่ใช้ He calls me yesterday.)
กฏการใช้ subject-verb agreement 12 ข้อ
จริงอยู่ที่หัวใจหลักของ subject-verb agreement ก็คือการใช้คำกริยารูปเอกพจน์กับประธานที่เป็นเอกพจน์ และใช้คำกริยารูปพหูพจน์กับประธานที่เป็นพหูพจน์
แต่ในการนำไปใช้จริง หลายๆครั้งเราก็จะสับสนว่าประธานในประโยคนั้นถือเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์กันแน่ หรือในบางกรณีก็อาจมีข้อยกเว้น ทำให้เราต้องเปลี่ยนไปใช้คำกริยาอีกรูปหนึ่งแทน
เพื่อให้กระจ่าง เรามาดูสรุปกฏการใช้ subject-verb agreement แบบง่ายๆทั้ง 12 ข้อกันเลย
1. คำสรรพนาม I และ you ต้องใช้กับคำกริยารูปพหูพจน์
คำสรรพนาม I และ you แม้ว่าจะเป็นเอกพจน์ แต่ต้องใช้กับคำกริยารูปพหูพจน์
I want to be a teacher.
ฉันอยากเป็นครู
You inspire me.
คุณสร้างแรงบันดาลใจให้ฉัน
แต่จะมีข้อยกเว้นสำหรับคำสรรพนาม I ซึ่งก็คือเมื่อใช้กับ verb to be รูป present tense (ได้แก่ is, am, are) เราจะต้องใช้ am
I am 20 years old.
ฉันอายุ 20 ปี
แต่ถ้าเป็น verb to be รูป past tense (ได้แก่ was, were) ปกติแล้วเราจะใช้ was
I was ill yesterday.
เมื่อวานนี้ฉันป่วย
2. ประธานหลายตัวเชื่อมกันด้วย and ต้องใช้คำกริยารูปพหูพจน์
เมื่อมีประธานตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปเชื่อมกันด้วย and เราจะถือว่าประธานในประโยคนั้นเป็นพหูพจน์ ต้องใช้กับคำกริยารูปพหูพจน์
Tim and John are close.
ทิมกับจอห์นนั้นสนิทกัน
The black and the white dog are my dogs.
สุนัขตัวสีดำและสุนัขตัวสีขาวนั้นเป็นสุนัขของฉัน
(ฉันมีสุนัขสีดำหนึ่งตัว และสุนัขสีขาวอีกหนึ่งตัว คำว่า the หน้า white จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงประธานตัวที่ 2)
แต่ให้เราระวัง เพราะบางทีคำว่า and ไม่ได้เชื่อมประธาน แต่เชื่อมคำคุณศัพท์ หรือเป็นส่วนหนึ่งของคำนาม ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ เราจะอิงความเป็นเอกพจน์/พหูพจน์ตามประธานในประโยค
กรณีที่ and ทำหน้าที่เชื่อมคำคุณศัพท์
The black and white dog is very friendly.
สุนัขตัวสีขาวดำนิสัยเป็นมิตรมาก
(คำว่า and เชื่อมคำว่า black และ white ซึ่งหมายถึงสุนัขที่มีทั้งสีดำและสีขาวอยู่ในตัว ประโยคนี้มีประธานแค่ตัวเดียวคือ dog ซึ่งเป็นเอกพจน์)
The black and white dogs are very friendly.
สุนัขสีขาวดำเหล่านั้นนิสัยเป็นมิตรมาก
(คำว่า and เชื่อมคำว่า black และ white ซึ่งหมายถึงสุนัขที่มีทั้งสีดำและสีขาวอยู่ในตัว ประโยคนี้มีประธานแค่ตัวเดียวคือ dogs ซึ่งเป็นพหูพจน์)
กรณีที่ and เป็นส่วนหนึ่งของคำนาม
Beauty and the Beast is a popular fairy tale.
เรื่องโฉมงานกับเจ้าชายอสูรเป็นเทพนิยายที่ได้รับความนิยม
(คำว่า Beauty and the Beast เป็นชื่อของเทพนิยาย ซึ่งถือเป็นเอกพจน์ เพราะเป็นการพูดถึงเทพนิยายแค่เรื่องเดียว คำว่า and ในที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของคำนาม)
3. ประธานหลายตัวเชื่อมกันด้วย or, either…or หรือ neither…nor จะต้องใช้คำกริยารูปเดียวกับประธานตัวหลังสุด
เมื่อมีประธานตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปเชื่อมกันด้วย or, either…or หรือ neither…nor เราจะอิงความเป็นเอกพจน์/พหูพจน์ตามประธานตัวหลังสุด
ถ้าประธานตัวหลังสุดเป็นเอกพจน์ เราจะใช้คำกริยารูปเอกพจน์
Tim or his friend feeds the cat every morning.
ทิมหรือเพื่อนของเขาให้อาหารแมวทุกเช้า
(ประธานตัวหลังสุดคือ his friend เป็นเอกพจน์ เราจึงใช้คำกริยารูปเอกพจน์ ซึ่งก็คือ feeds)
Normally, either mom or dad does the dishes.
ปกติแล้ว ไม่แม่ก็พ่อจะเป็นคนล้างจาน
(ประธานตัวหลังสุดคือ dad เป็นเอกพจน์ เราจึงใช้คำกริยารูปเอกพจน์ ซึ่งก็คือ does)
Neither the blue nor the red shirt has my size.
ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเชิ้ตสีฟ้าหรือสีแดงก็ไม่มีไซส์ฉัน
(ประธานตัวหลังสุดคือ the red shirt เป็นเอกพจน์ เราจึงใช้คำกริยารูปเอกพจน์ ซึ่งก็คือ has)
แต่ถ้าประธานตัวหลังสุดเป็นพหูพจน์ เราก็จะใช้คำกริยารูปพหูพจน์
Tim or his friends feed the cat every morning.
ทิมหรือเพื่อนๆของเขาให้อาหารแมวทุกเช้า
(ประธานตัวหลังสุดคือ his friends เป็นพหูพจน์ เราจึงใช้คำกริยารูปพหูพจน์ ซึ่งก็คือ feed)
Normally, either mom or aunts do the dishes.
ปกติแล้ว ไม่แม่ก็ป้าๆจะเป็นคนล้างจาน
(ประธานตัวหลังสุดคือ aunts เป็นพหูพจน์ เราจึงใช้คำกริยารูปพหูพจน์ ซึ่งก็คือ do)
Neither the blue shirt nor the green shoes have my size.
ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเชิ้ตสีฟ้าหรือรองเท้าสีเขียวก็ไม่มีไซส์ฉัน
(ประธานตัวหลังสุดคือ the green shoes เป็นพหูพจน์ เราจึงใช้คำกริยารูปพหูพจน์ ซึ่งก็คือ have)
4. ถ้ามี of ในประธาน เราจะดูวลีคำนามหน้า of เป็นหลัก
ถ้ามีการใช้ of ในประธาน เราจะยึดความเป็นเอกพจน์/พหูพจน์ตามวลีคำนามหน้า of ตัวอย่างเช่น
- A pair of shoes (รองเท้าหนึ่งคู่) – เป็นเอกพจน์
- Three pairs of shoes (รองเท้าสามคู่) – เป็นพหูพจน์
การเลือกใช้คำกริยาก็ต้องใช้ตามวลีคำนามหน้า of นั้น
A pile of books is on my desk.
หนังสือกองหนึ่งอยู่บนโต๊ะของฉัน
(วลีคำนามหน้า of ในประธานคือ a pile เป็นเอกพจน์ เราจึงใช้คำกริยารูปเอกพจน์ ซึ่งก็คือ is)
Two pieces of bread are not enough for me.
ขนมปังสองชิ้นไม่พอสำหรับฉัน
(วลีคำนามหน้า of ในประธานคือ two pieces เป็นพหูพจน์ เราจึงใช้คำกริยารูปพหูพจน์ ซึ่งก็คือ are)
อย่างไรก็ตาม ถ้าหน้า of ในประธานไม่ใช่วลีคำนาม แต่เป็นคำบอกปริมาณ ให้เรายึดความเป็นเอกพจน์/พหูพจน์ตามความหมายโดยรวมของประธานแทน อย่างเช่น
- One of my friends (เพื่อนคนนึงของฉัน) – หนึ่งคน, เป็นเอกพจน์
- Most of my friends (เพื่อนส่วนใหญ่ของฉัน) – มากกว่าหนึ่งคน, เป็นพหูพจน์
- A few of my friends (เพื่อนบางส่วนของฉัน) – มากกว่าหนึ่งคน, เป็นพหูพจน์
ทั้งนี้ การเลือกใช้คำนามหลัง of เป็นรูปเอกพจน์หรือพหูพจน์ ก็มีผลต่อความหมายและความเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ของประธานด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น
- All of the pie (พายทั้งอัน) – หนึ่งชิ้น, เป็นเอกพจน์
- All of the pies (พายทุกชิ้น) – มากกว่าหนึ่งชิ้น, เป็นพหูพจน์
ตัวอย่าง subject-verb agreement เมื่อหน้า of เป็นคำบอกปริมาณ
One of the students is from Japan.
มีนักเรียนคนหนึ่งมาจากประเทศญี่ปุ่น
(One เป็นคำบอกปริมาณ มีความหมายว่าหนึ่งหน่วย ถือเป็นเอกพจน์ เราจึงใช้คำกริยารูปเอกพจน์ ซึ่งก็คือ is)
In this library, all of the books are in English.
ในห้องสมุดนี้ หนังสือทุกเล่มเป็นภาษาอังกฤษ
(All เป็นคำบอกปริมาณ มีความหมายว่าทั้งหมด all of the books แปลว่า หนังสือทุกเล่ม ถือเป็นพหูพจน์ เราจึงใช้คำกริยารูปพหูพจน์ ซึ่งก็คือ are)
5. ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย here หรือ there ประธานจะอยู่หลังคำกริยา
ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย here หรือ there ตำแหน่งของประธานจะอยู่หลังคำกริยา
ถ้าประธานเป็นเอกพจน์ เราจะใช้คำกริยารูปเอกพจน์
Here is the pen.
นี่คือปากกา
(ประธานคือ the pen เป็นเอกพจน์ เราจึงใช้คำกริยารูปเอกพจน์ ซึ่งก็คือ is)
There is a cat in the garden.
มีแมวหนึ่งตัวอยู่ในสวน
(ประธานคือ a cat เป็นเอกพจน์ เราจึงใช้คำกริยารูปเอกพจน์ ซึ่งก็คือ is)
แต่ถ้าประธานเป็นพหูพจน์ เราก็จะใช้คำกริยารูปพหูพจน์
Here are the pens.
นี่คือปากกา
(ประธานคือ the pens เป็นพหูพจน์ เราจึงใช้คำกริยารูปพหูพจน์ ซึ่งก็คือ are)
There are cats in the garden.
มีแมวหลายตัวอยู่ในสวน
(ประธานคือ cats เป็นพหูพจน์ เราจึงใช้คำกริยารูปพหูพจน์ ซึ่งก็คือ are)
6. เมื่อมี relative pronoun เราต้องมองประธานและคำกริยาให้ออก
Relative pronoun คือคำจำพวก who, whom, whose, which, that ที่ใช้ขยายคำนาม อย่างเช่นในประโยค
The person who I called yesterday lives in the same apartment with me.
คนที่ฉันโทรหาเมื่อวานอยู่ในอพาร์ทเมนต์เดียวกันกับฉัน
หลายคนมักจะสับสนเวลาเจอประโยคที่มี relative pronoun ว่าคำไหนคือประธาน คำไหนคือกริยา
วิธีดูง่ายๆคือให้เรามองวลีของ relative pronoun (หรือที่เรียกว่า relative clause) ให้ออก ประธานหลักของประโยคจะอยู่หน้าวลี ส่วนคำกริยาจะอยู่หลัง ซึ่งเราต้องใช้รูปเอกพจน์/พหูพจน์ของคำกริยาตามประธานของประโยค
The person [who I called yesterday] lives in the same apartment with me.
(ประธานในประโยคคือ the person เป็นเอกพจน์ เราจึงต้องใช้คำกริยาเป็นรูปเอกพจน์ ซึ่งก็คือ lives)
แต่บางประโยคก็อาจมีการละ relative pronoun ซึ่งเราจะต้องพยายามมองให้ออก
The person [I called yesterday] lives in the same apartment with me.
(ประโยคนี้ละคำว่า who เราสามารถละ relative pronoun ได้ ถ้ามันทำหน้าที่เป็นกรรม)
นอกจากประโยคหลักแล้ว ตัว relative clause ก็ต้องเป็นไปตามหลัก subject-verb agreement เช่นกัน
I want to buy a book [which is only available in the U.K.]
ฉันต้องการซื้อหนังสือเล่มหนึ่งที่มีขายเฉพาะในประเทศอังกฤษ
(คำว่า which เป็น relative pronoun แทนคำว่า a book ซึ่งเป็นเอกพจน์ เราจึงใช้คำกริยาใน relative clause เป็นรูปเอกพจน์ ซึ่งก็คือ is)
I have the same book [that you have].
ฉันมีหนังสือเล่มเดียวกันกับที่คุณมีเลย
(คำว่า that เป็น relative pronoun แทนคำว่า the same book แต่ใน relative clause นี้ คำว่า that จะทำหน้าที่เป็นกรรม ส่วนประธานจะเป็น you เราจึงใช้คำกริยารูปพหูพจน์ ซึ่งก็คือ have)
7. ไม่ต้องสนใจคำหรือวลีที่คั่นระหว่างประธานและคำกริยา
บางครั้ง ในประโยคจะมีคำหรือวลีที่คั่นระหว่างประธานและคำกริยา ถ้าเป็นกรณีนี้ ให้เราเลือกใช้รูปเอกพจน์/พหูพจน์ของคำกริยาตามประธาน โดยที่ไม่ต้องสนใจคำหรือวลีที่เข้ามาคั่น
คำหรือวลีที่คั่นระหว่างประธานและคำกริยา มักจะมีคอมม่าคั่นทั้งหน้าและหลัง ตัวอย่างเช่น
Anne, as well as her boyfriend, is very impressed with the service.
แอน รวมถึงแฟนของเธอ ต่างก็รู้สึกประทับใจกับการบริการมาก
All of the students, including Joe, are extremely disappointed.
นักเรียนทุกคน รวมถึงโจ ต่างก็รู้สึกผิดหวังมาก
8. คำสรรพนามจำพวก every…, some…, any…, no…, either และ neither ถือเป็นเอกพจน์
คำสรรพนามหลายๆคำ แม้ตามความหมายแล้วจะเหมือนเป็นพหูพจน์ หรือมีความก้ำกึ่งอยู่ แต่เราจะถือว่าเป็นเอกพจน์ อย่างเช่น
- Everyone – ทุกคน
- Everybody – ทุกคน
- Someone – บางคน
- Somebody – บางคน
- Anyone – คนหนึ่งคนใด
- Anybody – คนหนึ่งคนใด
- No one – ไม่มีใคร
- Nobody – ไม่มีใคร
- Either – ทั้งคู่
- Neither – ไม่ใช่ทั้งคู่
การใช้คำสรรพนามเหล่านี้เป็นประธาน เราจะต้องใช้คำกริยารูปเอกพจน์
Everyone has access to the internet these days.
ทุกวันนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้
No one want to be my friend anymore.
ไม่มีใครอยากเป็นเพื่อนกับฉันอีกแล้ว
Either of you is welcome any day.
ยินดีต้อนรับคุณทั้งคู่เสมอ
9. ใช้คำกริยารูปเอกพจน์กับประธานที่เป็นค่าปริมาณต่างๆ
ให้เราใช้คำกริยารูปเอกพจน์ เมื่อประธานเป็นค่าปริมาณต่างๆ เช่น ระยะเวลา จำนวนเงิน ระยะทาง
Ten thousand Baht is too expensive for this bag.
หนึ่งหมื่นบาทนั้นแพงไปสำหรับกระเป๋าไปนี้
Two hours is not enough, I need more time to complete the work.
สองชั่วโมงนั้นไม่พอหรอก ฉันต้องการเวลามากกว่านี้ในการทำงานให้เสร็จ
10. คำนามที่เติม s/es ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นพหูพจน์เสมอไป
จริงอยู่ที่เวลาเปลี่ยนคำนามจากเอกพจน์ให้เป็นพหูพจน์ เรามักจะเติม s/es หลังคำนาม
แต่ก็มีคำนามบางคำที่แม้จะลงท้ายด้วย s/es แต่ก็ถือว่าเป็นเอกพจน์ เช่น
- News – ข่าว (ถ้าเป็น new จะแปลว่า “ใหม่”)
- Darts – กีฬาปาเป้า (ถ้าเป็น dart จะแปลว่า “ลูกดอก”)
- Billiards – กีฬาบิลเลียด (ถ้าเป็น billiard จะใช้เป็นคำขยาย เช่น billiard table จะแปลว่า “โต๊ะบิลเลียด”)
การใช้คำนามเหล่านี้เป็นประธาน เราจะต้องใช้กับคำกริยารูปเอกพจน์
News is information about current events.
ข่าวคือข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบัน
Darts is popular only in some countries.
กีฬาปาเป้าเป็นที่นิยมแค่ในบางประเทศ
ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีคำนามบางคำที่ลงท้ายด้วย s/es แต่สามารถใช้เป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริบทที่ใช้ อย่างเช่น
- Statistics – วิชาสถิติ, สถิติ
- Mathematics – วิชาคณิตศาสตร์
- Measles – โรคหัด
การเลือกใช้รูปคำกริยากับคำนามเหล่านี้ เราจะต้องดูความหมายและบริบทประกอบ
Statistics is my favorite subject.
วิชาสถิติเป็นวิชาโปรดของฉัน
These statistics are not accurate.
สถิติเหล่านี้ขาดความแม่นยำถูกต้อง
นอกจากนี้ ยังมีคำนามที่ลงท้ายด้วย s/es อีกกลุ่มหนึ่ง ที่จะถือว่าเป็นพหูพจน์เสมอ
คำนามเหล่านี้มักจะเป็นสิ่งที่มีสองข้าง และทั้งสองข้างนั้นสมมาตรกัน ตัวอย่างเช่น
- Pants – กางเกงขายาว (แต่ถ้าเป็น British English จะแปลว่า “กางเกงใน”)
- Glasses – แว่นตา (ถ้าเป็น glass จะแปลว่า “แก้วน้ำ”)
- Scissors – กรรไกร
การใช้คำนามเหล่านี้ เราจะต้องใช้กับคำกริยารูปพหูพจน์
These glasses are cool.
แว่นตาพวกนี้เท่ดี
Scissors are dangerous for small children.
กรรไกรเป็นอันตรายต่อเด็กเล็ก
แต่ถ้าเราต้องการใช้คำนามเหล่านี้เป็นเอกพจน์ เราจะต้องใช้ a pair of ไว้ข้างหน้า เช่น a pair of pants, a pair of glasses, a pair of scissors
This pair of glasses is cool.
แว่นตาอันนี้เท่ดี
A pair of scissors consists of a pair of metal blades.
กรรไกรหนึ่งด้ามจะประกอบด้วยใบมีดเหล็กสองอัน
11. Collective noun สามารถใช้เป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ก็ได้
Collective noun คือคำนามที่ใช้แทนกลุ่มคน สัตว์ หรือสิ่งของ ตัวอย่างเช่น
- Family – ครอบครัว
- Group – กลุ่ม
- Team – ทีม
- Flock – ฝูงสัตว์
- Bunch – ช่อ, พวง
หลายคนมักจะพลาด คิดว่าคำเหล่านี้เป็นพหูพจน์ แต่จริงๆแล้ว คำเหล่านี้จะใช้เป็นได้ทั้งเอกพจน์และพหูพจน์ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้ต้องการสื่อความหมายยังไง
ถ้าใช้กล่าวถึงกลุ่มโดยรวม เราจะถือว่าเป็นเอกพจน์
My family lives in France.
ครอบครัวของฉันอยู่ในประเทศฝรั่งเศส
Our group is very competent.
กลุ่มของเรามีความสามารถมาก
แต่ถ้าเน้นถึงทุกๆคน/ทุกๆสิ่งในกลุ่ม เราจะถือว่าเป็นพหูพจน์
His family were abducted one by one.
ครอบครัวของเขาถูกลักพาตัวไปทีละคนสองคน
Our group are all wearing green shirts.
ทุกๆคนในกลุ่มของเราใส่เสื้อสีเขียว
ถ้าเทียบกันแล้ว เรามักจะใช้ collective noun เป็นเอกพจน์มากกว่าพหูพจน์ ดังนั้น เวลานำไปใช้ ถ้าเราไม่มีเหตุผลชัดเจนว่าทำไมถึงใช้เป็นพหูพจน์ ก็ให้เลือกใช้เป็นเอกพจน์ไว้ก่อนจะปลอดภัยกว่า
12. ใช้ were แทน was เมื่อแสดงความปรารถนา หรือเมื่อใช้กับสิ่งที่ไม่เป็นจริง
ปกติแล้ว ถ้าประโยคเป็น past tense และประธานเป็นเอกพจน์ การใช้ verb to be เราจะใช้ was แต่มีกรณียกเว้นคือ เมื่อเรากล่าวถึงสิ่งที่ไม่เป็นจริง เรื่องจินตนาการ หรือสิ่งที่เป็นความปรารถนา เราจะใช้ were แทน
ตัวอย่างประโยคเช่น
I wish Tim were here.
ฉันอยากให้ทิมอยู่ที่นี่
If I were a bird, I would fly freely and travel the world.
ถ้าฉันเป็นนก ฉันจะบินอย่างอิสระ และเดินทางไปรอบโลก
(ในกรณีทั่วไป เราจะใช้ I กับ was)
จบแล้วนะครับกับสรุป subject-verb agreement แบบง่ายๆ ทีนี้เพื่อนๆก็คงจะเข้าใจ และสามารถเลือกใช้คำกริยารูปเอกพจน์/พหูพจน์ได้ถูกต้องมากขึ้นแล้วนะครับ
อย่าลืมนะครับ ภาษาอังกฤษยิ่งเรียนรู้ ยิ่งฝึก ก็ยิ่งเก่ง สำหรับบทความนี้ ชิววี่ต้องขอตัวลาไปก่อน See you next time