Present simple tense เป็น tense พื้นฐานที่มีโครงสร้างเรียบง่าย แต่ก็ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นหนึ่งใน tense ที่ใช้บ่อย และเป็นพื้นฐานของแกรมม่าหัวข้ออื่นๆ อีกมากมาย
สำหรับใครที่ยังไม่ค่อยแม่นเรื่อง present simple tense ในบทความนี้ ชิววี่ก็ได้เรียบเรียงเนื้อหามาให้ได้เรียนรู้กันแบบง่ายๆ แล้ว เอาล่ะ ถ้าเพื่อนๆ พร้อมแล้ว เราไปดูกันเลย
Present simple tense คืออะไร
Present simple tense คือรูปคำกริยาที่ใช้กับข้อเท็จจริงทั่วไป สิ่งที่เป็นกิจวัตร หรือแผนการและตารางเวลา ซึ่งจะใช้คำกริยาช่อง 1 (เช่น go, come, eat) อย่างเช่น
I go to school every day.
ฉันไปโรงเรียนทุกวัน
แต่ถ้าประธานเป็นเอกพจน์บุรุษที่ 3 เราจะต้องใช้คำกริยารูป s/es แทน (เช่น goes, comes, eats) อย่างเช่น
He goes to school every day.
เขาไปโรงเรียนทุกวัน
โครงสร้าง present simple tense
เมื่อเทียบกับ tense อื่นๆ present simple tense นั้นถือว่ามีโครงสร้างที่เรียบง่าย โดยหัวใจหลักอย่างหนึ่งของมันก็คือการใช้คำกริยาช่อง 1
แต่ present simple tense ก็มีความซับซ้อนนิดหน่อยตรงที่ว่า จะมีการใช้คำกริยารูป s/es ด้วย โดยจะมีหลักการคือ
- ถ้าประธานเป็นพหูพจน์ (เช่น we, they, boys, teachers, cats, pens) หรือเป็นเอกพจน์บุรุษที่ 1 และ 2 (I และ you) เราจะต้องใช้คำกริยารูปปกติ (เช่น go, come, eat)
- ถ้าประธานเป็นเอกพจน์บุรุษที่ 3 (เช่น he, she, it, boy, teacher, cat, pen) เราจะต้องใช้คำกริยารูปที่เติม s/es (เช่น goes, comes, eats)
นอกเหนือจากนี้แล้ว ยังมีประเด็นในเรื่องชนิดของประโยคอีก ซึ่งประโยคแต่ละชนิด อย่างเช่น ประโยคบอกเล่า ประโยคปฏิเสธ และประโยคคำถาม ก็จะมีโครงสร้างและรายละเอียดการใช้ tense ที่ต่างกัน ซึ่งก็คือ
ทบทวนความรู้
Subject แปลว่า ประธาน
Verb แปลว่า คำกริยา
Object แปลว่า กรรม หรือ ผู้ถูกกระทำ เช่นในประโยค I love you.
Complement แปลว่า ส่วนเติมเต็ม ซึ่งก็คือคำที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประธาน เวลาใช้มักจะตามหลัง linking verb (เช่น is, am, are, feel, seem) เช่นในประโยค I am a student.
ประโยคบอกเล่า
การใช้ present simple tense ในประโยคบอกเล่า จะมีโครงสร้างและตัวอย่างประโยคดังนี้
โครงสร้าง
Subject + verb 1 + (object/complement)
ตัวอย่างประโยคเช่น
I love my cat.
ฉันรักแมวของฉัน
The sun rises in the east.
พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก
ประโยคปฏิเสธ
การใช้ present simple tense ในประโยคปฏิเสธ จะมีโครงสร้างหลักๆ 2 แบบ คือ
1. ประโยคที่ใช้ verb to be เป็นคำกริยาหลัก
ถ้าประโยคมี verb to be (is, am, are) เป็นคำกริยาหลัก เราสามารถใช้ not หลัง verb to be ได้เลย โดยเราสามารถเขียนย่อ is not เป็น isn’t และ are not เป็น aren’t ได้ แต่สำหรับ am not นั้น เราจะไม่ใช้รูปย่อ
โครงสร้าง
Subject + verb to be + not + (object/complement)
ตัวอย่างประโยคเช่น
He isn’t an engineer.
เขาไม่ใช่วิศวกร
(รูปประโยคบอกเล่าคือ He is an engineer.)
They aren’t students.
พวกเขาไม่ได้เป็นครู
(รูปประโยคบอกเล่าคือ They are students.)
2. ประโยคที่ไม่ได้ใช้ verb to be เป็นคำกริยาหลัก
ถ้าประโยคมีคำกริยาหลักเป็นคำกริยาอื่นที่ไม่ใช่ verb to be เราจะใช้ do/does + not ไว้หน้าคำกริยาหลัก โดยเราสามารถเขียนย่อ do not เป็น don’t และ does not เป็น doesn’t ได้
โครงสร้าง
Subject + do/does + not + verb 1 + (object/complement)
(ในประโยคปฏิเสธที่ใช้ do/does เราจะใช้ does กับประธานเอกพจน์บุรุษที่ 3 และจะใช้ do กับประธานชนิดอื่นๆ โดยเราจะใช้คำกริยาหลัก เป็นคำกริยารูปปกติที่ไม่ได้เติม s/es เสมอ)
ตัวอย่างประโยคเช่น
He doesn’t love me.
เขาไม่ได้รักฉัน
(รูปประโยคบอกเล่าคือ He loves me.)
Her friends don’t like me.
เพื่อนๆ ของเธอไม่ชอบฉัน
(รูปประโยคบอกเล่าคือ Her friends like me.)
ประโยคคำถาม
การใช้ present simple tense ในประโยคคำถาม จะมีโครงสร้างหลักๆ 2 แบบ คือ
1. ประโยคที่ใช้ verb to be เป็นคำกริยาหลัก
ถ้าประโยคมี verb to be (is, am, are) เป็นคำกริยาหลัก เราจะขึ้นต้นประโยคด้วย verb to be
โครงสร้าง
Verb to be + subject + (object/complement)?
ตัวอย่างประโยคเช่น
Is she angry?
เธอโกรธรึเปล่า
(รูปประโยคบอกเล่าคือ She is angry.)
Are they students?
พวกเขาเป็นนักเรียนรึเปล่า
(รูปประโยคบอกเล่าคือ They are students.)
2. ประโยคที่ไม่ได้ใช้ verb to be เป็นคำกริยาหลัก
ถ้าประโยคมีคำกริยาหลักเป็นคำกริยาอื่นที่ไม่ใช่ verb to be เราจะขึ้นต้นประโยคด้วย do/does แล้วคงคำกริยาหลักไว้หลังประธาน เหมือนประโยคบอกเล่า
โครงสร้าง
Do/Does + subject + verb 1 + (object/complement)?
(ในประโยคคำถามที่ใช้ do/does เราจะใช้ does กับประธานเอกพจน์บุรุษที่ 3 และจะใช้ do กับประธานชนิดอื่นๆ โดยเราจะใช้คำกริยาหลัก เป็นคำกริยารูปปกติที่ไม่ได้เติม s/es เสมอ)
ตัวอย่างประโยคเช่น
Does he eat spicy food?
เขากินอาหารเผ็ดมั้ย
(รูปประโยคบอกเล่าคือ He eats spicy food.)
Do they speak English?
พวกเขาพูดภาษาอังกฤษมั้ย
(รูปประโยคบอกเล่าคือ They speak English.)
หลักการใช้ present simple tense
การใช้ present simple tense จะมีประเด็นหลักๆ ได้แก่
Present simple tense ใช้ตอนไหน
เราจะใช้ present simple tense เมื่อ
1. กล่าวถึงสิ่งที่เป็นจริงในปัจจุบัน
I am a student.
ฉันเป็นนักเรียน
Joe lives in Japan with his friend.
โจอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นกับเพื่อน
My parents own a restaurant.
พ่อแม่ฉันเป็นเจ้าของร้านอาหาร
2. กล่าวถึงสิ่งที่เป็นกิจวัตร
I play football every day.
ฉันเล่นฟุตบอลทุกวัน
The train leaves every morning at 7 a.m.
รถไฟจะออกทุกๆ เช้าตอน 7 โมง
We often watch movies together.
พวกเราดูหนังด้วยกันบ่อยๆ
3. กล่าวถึงข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ
The sun rises in the east.
พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก
Water boils at 100°C.
น้ำเดือดที่ 100 องศาเซลเซียส
Students don’t generally have much money.
เด็กนักเรียนโดยทั่วไปแล้วไม่ได้มีเงินมาก
4. กล่าวถึงแผนการหรือตารางเวลา
The bus arrives at the bus stop every 15 minutes.
รถบัสจะมาถึงป้ายทุกๆ 15 นาที
The party starts at 9 o’clock.
ปาร์ตี้จะเริ่มตอน 9 โมง
The school term starts next month.
โรงเรียนจะเปิดเทอมในเดือนหน้า
5. ให้คำแนะนำ ข้อมูล หรือรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ
To start the program, first you click the icon on the desktop.
ในการเริ่มโปรแกรม ก่อนอื่นให้คุณคลิกที่ไอคอนบนเดสก์ท็อป
First of all, you break the eggs and whisk with sugar.
ก่อนอื่นให้คุณตอกไข่และตีไข่กับน้ำตาล
You go straight along the road and turn right at the corner.
คุณตรงไปตามถนนแล้วเลี้ยวขวาตรงหัวมุม
(การให้คำแนะนำ หรือรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ เราอาจละประธานได้ เช่น Go straight along the road and turn right at the corner. ซึ่งเราจะเรียกรูปประโยคที่ละประธานนี้ว่า imperative form)
เกร็ดความรู้
นอกจากกรณีเหล่านี้แล้ว เรายังสามารถใช้ present simple tense ในการเล่ามุขตลก หรือเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้อีกด้วย (เช่น เรื่องราวชีวิต เรื่องราวคนอื่น เรื่องราวจากหนังสือ เรื่องราวจากหนัง) การใช้ present simple tense ในการเล่าเรื่อง จะช่วยให้เรื่องที่เล่านั้นดูสดใหม่และใกล้ตัวมากขึ้น เมื่อเทียบกับการใช้ past tense
คำบอกเวลากับ present simple tense
เนื่องจาก present simple tense จะถูกใช้เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่เป็นกิจวัตร เราจึงมักจะเห็นคำบอกเวลาในเชิงความถี่ (adverbs of frequency) ใน present simple tense บ่อยๆ ซึ่งคำเหล่านี้นั้นได้แก่
Adverbs of frequency | ความหมาย |
---|---|
Always | เป็นประจำ, เสมอ |
Usually | มักจะ |
Normally | โดยปกติ |
Generally | โดยปกติ |
Often | บ่อยครั้ง |
Frequently | บ่อยครั้ง |
Sometimes | บางครั้ง |
Occasionally | เป็นครั้งคราว |
Seldom | ไม่ค่อย |
Rarely | นานๆ ครั้ง |
Hardly | นานๆ ครั้ง |
Never | ไม่เคย |
ตัวอย่างประโยคก็อย่างเช่น
I always wake up at 6 o’clock.
ฉันตื่นนอนตอน 6 โมงเป็นประจำ
Peter often takes notes during conference.
ปีเตอร์มักจะจดโน้ตบ่อยๆ เวลาประชุม
He is never late.
เขาไม่เคยสาย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า adverbs of frequency นั้นจะถูกใช้ใน present simple tense บ่อยๆ แต่จริงๆ แล้วก็สามารถใช้กับ tense อื่นได้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น
I always woke up at 6 o’clock when I was a student.
ฉันตื่นนอนตอน 6 โมงเป็นประจำ เมื่อตอนที่ฉันยังเป็นนักเรียน
(เป็นกิจวัตรในอดีต ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เราจึงใช้ past simple tense)
I will always love you.
ฉันจะรักคุณเสมอ
(เป็นการพูดถึงอนาคต เราจึงใช้ future simple tense)
สรุป present simple tense
- Present simple tense คือรูปคำกริยาที่ใช้กับข้อเท็จจริงทั่วไป สิ่งที่เป็นกิจวัตร หรือแผนการและตารางเวลา ซึ่งจะใช้คำกริยาช่อง 1 (เช่น go, come, eat)
- แต่ถ้าประธานเป็นเอกพจน์บุรุษที่ 3 (เช่น he, she, it, boy, teacher, cat, pen) เราจะต้องใช้คำกริยารูปที่เติม s/es (เช่น goes, comes, eats) แทน
- ประโยคบอกเล่า ประโยคคำถาม และประโยคปฏิเสธ จะมีโครงสร้างประโยคและรายละเอียดการใช้ tense ที่ต่างกัน สำหรับประโยคคำถามและประโยคปฏิเสธ ถ้าคำกริยาหลักไม่ใช่ verb to be เราจะต้องนำ do/does เข้ามาใช้ด้วย
- เราจะใช้ present simple tense เมื่อ
- กล่าวถึงสิ่งที่เป็นจริงในปัจจุบัน
- กล่าวถึงสิ่งที่เป็นกิจวัตร
- กล่าวถึงข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ
- กล่าวถึงแผนการหรือตารางเวลา
- ให้คำแนะนำ ข้อมูล หรือรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ
- ใช้เล่าเรื่องหรือเล่ามุขตลก เมื่อเราต้องการให้เรื่องนั้นดูสดใหม่หรือใกล้ตัวมากขึ้น
- เรามักเจอคำบอกความถี่ (เช่น always, often, sometimes) ใน present simple tense บ่อยๆ เพราะเป็นคำที่ใช้บ่งบอกถึงความเป็นกิจวัตร แต่คำเหล่านี้ จริงๆ แล้วก็สามารถใช้กับ tense อื่นได้ด้วยเช่นกัน ขึ้นอยู่กับใจความของประโยค
จบแล้วนะครับกับ present simple tense ทีนี้เพื่อนๆ ก็คงจะเข้าใจ และสามารถนำไปใช้ได้ถูกต้องมากขึ้นแล้วนะครับ
อย่าลืมนะครับ ภาษาอังกฤษยิ่งเรียนรู้ ยิ่งฝึก ก็ยิ่งเก่ง สำหรับบทความนี้ ชิววี่ต้องขอตัวลาไปก่อน See you next time