พูดถึง participle หลายๆ คน อาจจะนึกไม่ออกว่ามันคืออะไร แต่ถ้าบอกว่าเป็น verb รูป -ing หรือ verb ช่อง 3 ที่ใช้เป็น adjective ได้ด้วย หลายๆ คนก็คงจะร้องอ๋อตามๆ กัน
ใช่แล้วครับ ในบทความนี้ ชิววี่จะมาพูดถึงเรื่อง participle ว่ามันคืออะไร มีกี่ประเภท มีตัวอย่างการใช้อย่างไรบ้าง และในท้ายบทความ เราจะมาดูเรื่อง participial adjective ซึ่งเป็นกลุ่มคำใกล้เคียงเพิ่มเติมกันด้วย เอาล่ะ ถ้าเพื่อนๆ พร้อมแล้ว เราไปดูกันเลย
Participle คืออะไร
Participle คือ verb ที่สามารถใช้เป็น adjective ได้ด้วย ซึ่งก็คือ verb รูป -ing และ verb ช่อง 3 นั่นเอง ตัวอย่าง participle ที่เป็น adjective ก็อย่างเช่น
Verb รูป -ing ที่เป็น adjective
(มักมีความหมายในเชิงผู้กระทำ)
- Breaking news – ข่าวด่วน, ข่าวมาแรง (ข่าวที่สำคัญถึงขนาดเข้ามาเบรคสิ่งที่เราทำอยู่)
- Flying bird – นกที่กำลังบินอยู่
- Running water – น้ำที่กำลังไหล
Verb ช่อง 3 ที่เป็น adjective
(มักมีความหมายในเชิงผู้ถูกกระทำ)ฺ
- Broken heart – อกหัก (ใจที่ถูกทำให้แตกสลาย)
- Cooked rice – ข้าวสุก, ข้าวสวย (ข้าวที่ถูกทำให้สุก)
- Injured cat – แมวที่บาดเจ็บ (แมวที่ถูกทำให้บาดเจ็บ)
ทบทวนความรู้
Adjective (คำคุณศัพท์) คือคำที่ใช้ขยายคำนาม อย่างเช่นคำว่า good, bad, blue, red, happy, sad ซึ่งการใช้มักจะวางไว้หน้าคำนามหรือหลัง verb to be อย่างเช่น good kid หรือ He is happy.
Participle มีกี่ประเภท
Participle แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ present participle, past participle และ perfect participle โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. Present participle
Present participle คือ verb รูป -ing ซึ่งทำหน้าที่เป็น adjective ได้ด้วย ตัวอย่างในประโยคก็อย่างเช่น
I am looking at the flying birds.
ฉันกำลังมองดูฝูงนกที่บินอยู่
(ทั้ง looking และ flying เป็น present participle แต่ looking ทำหน้าที่เป็น verb ส่วน flying ทำหน้าที่เป็น adjective)
The boy sleeping there is my son.
เด็กผู้ชายที่นอนอยู่ตรงนั้นคือลูกชายของฉัน
(คำว่า sleeping เป็น present participle ทำหน้าที่เป็น adjective)
Wearing my new sun glasses, I feel super cool.
เมื่อใส่แว่นตากันแดดอันใหม่ ฉันรู้สึกเท่มากๆ
(คำว่า wearing เป็น present participle ทำหน้าที่เป็น adjective)
จริงๆ แล้ว verb รูป -ing สามารถทำหน้าที่เป็น noun ได้ด้วย เช่นในประโยค Eating is my happiness. (การกินคือความสุขของฉัน) แต่ verb -ing ที่เป็น noun เราจะไม่นับว่าเป็น participle แต่จะเรียกว่าเป็น gerund แทน
2. Past participle
Past participle คือ verb ช่อง 3 ซึ่งทำหน้าที่เป็น adjective ได้ด้วย ตัวอย่างในประโยคก็อย่างเช่น
I have eaten mashed cauliflower twice.
ฉันเคยกินกะหล่ำดอกบดมาแล้วสองครั้ง
(ทั้ง eaten และ mashed เป็น past participle แต่ eaten ทำหน้าที่เป็น verb ส่วน mashed ทำหน้าที่เป็น adjective)
The deer wounded by an arrow is lying on the ground.
กวางที่บาดเจ็บจากลูกธนูนั้นกำลังนอนกองอยู่บนพื้น
(คำว่า wounded เป็น past participle ทำหน้าที่เป็น adjective)
They are interested in robotics.
พวกเขาสนใจในหุ่นยนต์
(คำว่า interested เป็น past participle ทำหน้าที่เป็น adjective)
3. Perfect participle
Perfect participle คือวลี “having + verb ช่อง 3” ที่ถูกใช้เป็น adjective ตัวอย่างในประโยคก็อย่างเช่น
Having heard the news, I immediately called my mom and asked her about it.
เมื่อได้ยินข่าว ฉันก็โทรหาแม่และถามเกี่ยวกับเรื่องนั้นทันที
ถ้าสังเกตดีๆ เราจะเห็นได้ว่า perfect participle ก็คือการนำเอา present participle (คำว่า having) มาใช้ร่วมกันกับ past participle (verb ช่อง 3) นั่นเอง
Participial adjective คืออะไร
Participial adjective คือ adjective ที่มีหน้าตาคล้าย participle ซึ่งก็คือลงท้ายด้วย -ing หรือ -ed นั่นเอง โดยถือเป็นคำที่คนมักจะสับสน และใช้สลับกันอยู่บ่อยๆ
ตัวอย่าง participial adjective ก็อย่างเช่น interesting/interested, boring/bored, exciting/excited ซึ่งคู่คำเหล่านี้ มองเผินๆ แล้วจะคล้ายกัน แต่จริงๆ แล้วมีความหมายที่ต่างกัน ไม่สามารถใช้แทนกันได้
โดยวิธีจำแบบง่ายๆ ก็คือ ถ้าใช้บอกคุณลักษณะ เราจะใช้รูป -ing แต่ถ้าใช้บอกความรู้สึก เราจะใช้รูป -ed ตัวอย่างเช่น
รูป -ing ใช้บอกคุณลักษณะ
- Interesting – น่าสนใจ
- Boring – น่าเบื่อ
- Exciting – น่าตื่นเต้น
รูป -ed ใช้บอกความรู้สึก
- Interested – รู้สึกสนใจ
- Bored – รู้สึกเบื่อ
- Excited – รู้สึกตื่นเต้น
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เรามาดูตัวอย่างการใช้คำเหล่านี้ในประโยคกันเลย
That movie is interesting.
หนังเรื่องนั้นน่าสนใจดีนะ
(เราจะไม่ใช้ That movie is interested. เพราะความหมายจะเพี้ยนเป็น “หนังเรื่องนั้นรู้สึกสนใจ”)
I am interested in that movie.
ฉันรู้สึกสนใจหนังเรื่องนั้น
(ถ้าเราใช้ I am interesting. ความหมายจะเพี้ยนเป็น “ฉันน่าสนใจ”)
จบแล้วนะครับกับความหมายและตัวอย่างประโยคของ participle ชนิดต่างๆ รวมถึง participial adjective ด้วย ทีนี้เพื่อนๆ ก็คงจะเข้าใจ และสามารถนำไปใช้ได้ถูกต้องมากขึ้นแล้วนะครับ
อย่าลืมนะครับ ภาษาอังกฤษยิ่งเรียนรู้ ยิ่งฝึก ก็ยิ่งเก่ง สำหรับบทความนี้ ชิววี่ต้องขอตัวลาไปก่อน See you next time