ในภาษาอังกฤษ การเปลี่ยนคำนามเอกพจน์ให้เป็นพหูพจน์ เรามักจะเติม s หรือ es ต่อท้าย อย่างเช่น boy เป็น boys, cat เป็น cats, dish เป็น dishes
แต่ก็มีบางคำที่ต้องเปลี่ยนตัวอักษรก่อนแล้วค่อยเติม es อย่างเช่น candy เป็น candies, fly เป็น flies หรือบางคำก็เปลี่ยนตัวอักษรอย่างเดียว โดยที่ไม่ต้องเติม s หรือ es อย่างเช่น foot เป็น feet, man เป็น men
จากที่เขียนมานี้ หลายๆคนก็คงสงสัยว่า แล้วเราจะรู้ได้ยังไง ว่าคำไหนต้องใช้รูปพหูพจน์แบบไหน
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ก็ขอให้วางใจได้ เพราะในบทความนี้ ชิววี่ได้เรียบเรียงเนื้อหาเกี่ยวกับกฏการเติม s และ es หลังคำนาม มาให้ได้เรียนรู้กันแบบง่ายๆแล้ว ถ้าเพื่อนๆพร้อมแล้ว เราไปดูกันเลย
ทบทวนความรู้
คำนามเอกพจน์ คือคำนามที่แสดงถึงสิ่งที่มีจำนวนหนึ่งหน่วย ซึ่งก็คือคำนามรูปปกติทั่วไป เช่น friend, pen, bus, foot, ox
คำนามพหูพจน์ คือคำนามที่แสดงถึงสิ่งที่มีจำนวนตั้งแต่สองหน่วยขึ้นไป มักจะเป็นคำนามรูปที่เติม s หรือ es ต่อท้าย เช่น friends, pens, buses แต่ก็มีบางคำที่ใช้การเปลี่ยนหรือเติมตัวอักษรอื่นแทน เช่น feet, oxen
หลักการเติม s และ es หลังคำนาม
การเปลี่ยนคำนามเอกพจน์ให้เป็นพหูพจน์ หลักๆแล้วจะแบ่งได้เป็น 5 แบบ คือ
- เติม s ได้เลย เช่น cat เป็น cats, girl เป็น girls
- เติม es ได้เลย เช่น dish เป็น dishes, potato เป็น potatoes
- เปลี่ยนตัวอักษรท้ายคำแล้วค่อยเติม es เช่น wolf เป็น wolves, enemy เป็น enemies
- เปลี่ยนหรือเพิ่มตัวอักษรบางตัวหรือเปลี่ยนทั้งคำ เช่น tooth เป็น teeth, ox เป็น oxen, person เป็น people
- บางคำก็ใช้รูปพหูพจน์เหมือนเอกพจน์ เช่น deer, sheep
ซึ่งถ้าเจาะรายละเอียด จะแบ่งได้เป็นหลักการ 10 ข้อดังนี้
1. คำนามทั่วไปเติม s ต่อท้ายได้เลย
คำนามที่ไม่เข้าข่ายหลักการข้ออื่น เราสามารถเติม s ต่อท้ายตรงๆได้เลย ตัวอย่างเช่น
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Ant | Ants | มด |
Book | Books | หนังสือ |
Girl | Girls | เด็กผู้หญิง |
House | Houses | บ้าน |
Table | Tables | โต๊ะ, ตาราง |
Tree | Trees | ต้นไม้ |
2. คำนามที่ลงท้ายด้วย s, ss, sh, ch, x หรือ z ให้เติม es ต่อท้าย
คำนามที่ลงท้ายด้วย s, ss, sh, ch, x หรือ z เราจะต้องเติม es ต่อท้ายแทน s ตัวอย่างเช่น
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Bus | Buses | รถโดยสารประจำทาง |
Lens | Lenses | เลนส์ |
Class | Classes | ชั้นเรียน, คาบเรียน |
Dress | Dresses | ชุดเดรส |
Brush | Brushes | แปรง |
Dish | Dishes | จาน |
Beach | Beaches | ชายหาด |
Watch | Watches | นาฬิกา |
Box | Boxes | กล่อง |
Fox | Foxes | สุนัขจิ้งจอก |
Blitz | Blitzes | การโจมตีแบบสายฟ้าแลบ |
Buzz | Buzzes | ความรู้สึกตื่นเต้น, เสียงหึ่ง เช่น เสียงผึ้ง |
3. คำนามบางคำที่ลงท้ายด้วย s หรือ z ต้องซ้ำ s หรือ z แล้วค่อยเติม es
คำนามที่ลงท้ายด้วย s หรือ z ปกติแล้วจะเติม es ได้เลย แต่ก็มีบางคำที่เราจะต้องซ้ำ s หรือ z ก่อน แล้วค่อยเติม es ตัวอย่างเช่น
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Gas | Gasses | แก๊ส |
Quiz | Quizzes | แบบทดสอบ |
Whiz | Whizzes | ผู้มากความสามารถในบางด้าน |
4. คำนามที่ลงท้ายด้วย f หรือ fe ให้เปลี่ยน f หรือ fe เป็น v แล้วค่อยเติม es
คำนามที่ลงท้ายด้วย f หรือ fe เราจะเปลี่ยน f หรือ fe เป็น v ก่อน แล้วค่อยเติม es ตัวอย่างเช่น
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Leaf | Leaves | ใบไม้ |
Shelf | Shelves | ชั้นวางของ |
Wolf | Wolves | หมาป่า |
Knife | Knives | มีด |
Life | Lives | ชีวิต |
Wife | Wives | ภรรยา |
แต่บางคำที่ลงท้ายด้วย f หรือ fe ก็จะเติม s โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยน f หรือ fe เป็น v
คำพวกนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นคำที่หน้า f เป็นสระ 2 ตัวติดกัน (a, e, i, o, u) แต่บางคำก็ไม่ใช่ อย่างเช่น chef, safe
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Belief | Beliefs | ความเชื่อ |
Chef | Chefs | เชฟทำอาหาร |
Proof | Proofs | หลักฐาน |
Reef | Reefs | แนวหินโสโครกใต้ทะเล |
Roof | Roofs | หลังคา |
Safe | Safes | ตู้เซฟ |
5. คำนามที่ลงท้ายด้วย y ให้เปลี่ยน y เป็น i แล้วเติม es ยกเว้นถ้าหน้า y เป็นสระ (a, e, i, o, u) ให้เติม s ได้เลย
คำนามที่ลงท้ายด้วย y เราจะเปลี่ยน y เป็น i แล้วค่อยเติม es ตัวอย่างเช่น
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Baby | Babies | เด็กทารก |
City | Cities | เมืองขนาดใหญ่ |
Enemy | Enemies | ศัตรู |
Fly | Flies | แมลงวัน |
Library | Libraries | ห้องสมุด |
Puppy | Puppies | ลูกสุนัข |
แต่ถ้าหน้า y เป็นสระ (a, e, i, o, u) เราจะเติม s ได้เลย
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Boy | Boys | เด็กผู้ชาย |
Day | Days | วัน |
Monkey | Monkeys | ลิง |
Toy | Toys | ของเล่น |
Tray | Trays | ถาด |
Way | Ways | หนทาง, วิธี |
6. คำนามที่ลงท้ายด้วย o ให้เติม es
คำนามที่ลงท้ายด้วย o เราจะเติม es ต่อท้าย ตัวอย่างเช่น
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Domino | Dominoes | โดมิโน่ |
Echo | Echoes | เสียงสะท้อน |
Hero | Heroes | ฮีโร่ |
Mosquito | Mosquitoes | ยุง |
Potato | Potatoes | มันฝรั่ง |
Tomato | Tomatoes | มะเขือเทศ |
แต่ก็มีบางคำที่ใช้การเติม s แทน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคำที่หน้า o เป็นสระ (a, e, i, o, u) แต่บางคำก็ไม่ใช่ อย่างเช่น piano
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Audio | Audios | เสียง |
Bamboo | Bamboos | ต้นไผ่, ไม้ไผ่ |
Piano | Pianos | เปียโน |
Studio | Studios | สตูดิโอ |
Video | Videos | วิดีโอ |
Zoo | Zoos | สวนสัตว์ |
นอกจากนี้ ยังมีบางคำที่สามารถเติมได้ทั้ง s และ es คือใช้ได้ทั้ง 2 แบบเลย อย่างเช่น
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Buffalo* | Buffalos Buffaloes | ควาย |
Cargo | Cargos Cargoes | สินค้าที่บรรทุกโดยยานพาหนะขนาดใหญ่ เช่น เรือ เครื่องบิน |
Mango | Mangos Mangoes | มะม่วง |
Motto | Mottos Mottoes | คติพจน์ |
Tornado | Tornados Tornadoes | พายุทอร์นาโด |
Volcano | Volcanos Volcanoes | ภูเขาไฟ |
*คำว่า buffalo สามารถใช้รูปพหูพจน์ได้หลายแบบ ทั้ง buffalos (แบบเติม s), buffaloes (แบบเติม es) และ buffalo (เหมือนรูปเอกพจน์)
7. คำนามที่มาจากภาษาอื่น บางคำจะมีรูปพหูพจน์เฉพาะ
คำนามที่มาจากภาษากรีกที่ลงท้ายด้วย sis เมื่อเป็นรูปพหูพจน์ เราจะเปลี่ยนให้เป็น ses ตัวอย่างเช่น
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Analysis | Analyses | การวิเคราะห์, ผลวิเคราะห์ |
Basis | Bases | หลักสำคัญ, ส่วนประกอบหลัก |
Crisis | Crises | ช่วงวิกฤติ |
Neurosis | Neuroses | โรคประสาท |
Oasis | Oases | โอเอซิส, แหล่งน้ำกลางทะเลทราย |
Thesis | Theses | วิทยานิพนธ์ |
คำนามที่มาจากภาษาลาตินที่ลงท้ายด้วย us เราจะเปลี่ยนให้เป็น i ตัวอย่างเช่น
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Alumnus | Alumni | ศิษย์เก่า |
Cactus | Cacti (หรือ cactuses) | ต้นกระบองเพชร |
Fungus | Fungi | เห็ด, เชื้อรา |
แต่คำที่มาจากภาษาอื่นบางคำก็ใช้รูปพหูพจน์ได้หลายแบบ อย่างเช่น
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Appendix | Appendices Appendixes | ภาคผนวก |
Cactus | Cacti Cactuses | ต้นกระบองเพชร |
Curriculum | Curricula Curriculums | หลักสูตร |
Formula | Formulae Formulas | สูตร เช่น สูตรคณิตฯ |
Stadium | Stadia Stadiums | สนามกีฬาขนาดใหญ่ |
Thesaurus | Thesauri Thesauruses | พจนานุกรมคำพ้อง |
นอกจากตัวอย่างเหล่านี้แล้ว ยังมีคำต่างประเทศลักษณะอื่นอีก ที่มีรูปพหูพจน์เฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นคำที่พบเจอได้ไม่บ่อย หรือไม่ก็เป็นคำที่มักจะใช้รูปพหูพจน์เป็นปกติอยู่แล้ว (เช่น data, criteria ซึ่งเป็นรูปพหูพจน์ของ datum และ criterion ตามลำดับ)
8. คำนามบางคำใช้การเปลี่ยนหรือเติมตัวอักษรบางตัว โดยที่ไม่ต้องเติม s หรือ es
คำนามบางคำจะใช้การเปลี่ยนตัวอักษรที่เป็นสระ (a, e, i, o, u) เช่น เปลี่ยนจาก o เป็น e หรือเปลี่ยนจาก a เป็น e ตัวอย่างเช่น
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Fireman | Firemen | พนักงานดับเพลิง |
Foot | Feet | เท้า |
Goose | Geese | ห่าน |
Man | Men | ผู้ชาย |
Tooth | Teeth | ฟัน |
Woman | Women | ผู้หญิง |
และบางคำก็ใช้การเติมตัวอักษรอื่นที่ไม่ใช่ s หรือ es อย่างเช่น
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Child | Children | เด็ก |
Ox | Oxen | วัว |
9. คำนามบางคำจะเปลี่ยนแทบทั้งคำ โดยที่ไม่ได้เติม s หรือ es
คำนามบางคำจะมีรูปพหูพจน์ที่แตกต่างจากเดิมมาก เหมือนเป็นคนละคำกันเลย ตัวอย่างเช่น
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Mouse | Mice | หนู |
Person | People | คน |
10. คำนามบางคำมีรูปเอกพจน์และพหูพจน์เหมือนกัน
คำนามบางคำจะมีรูปเอกพจน์และพหูพจน์เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น
เอกพจน์ | พหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|
Aircraft | Aircraft | อากาศยาน |
Deer | Deer | กวาง |
Dice | Dice | ลูกเต๋า |
Fish* | Fish | ปลา |
Sheep | Sheep | แกะ |
Species | Species | สายพันธุ์ |
*คำว่า fish จริงๆแล้วมีรูปพหูพจน์ 2 แบบ คือ fish และ fishes แต่ในกรณีทั่วไป เช่นการบอกว่ามีปลาหลายตัว เราจะนิยมใช้ fish มากกว่า ส่วน fishes นั้นมักจะใช้เมื่อพูดถึงปลาหลายๆสายพันธุ์
เป็นยังไงบ้างครับกับกฏการเปลี่ยนคำนามเอกพจน์ให้เป็นพหูพจน์ ทีนี้เพื่อนๆก็คงจะเข้าใจและสามารถเปลี่ยนพจน์ของคำนามได้ถูกต้องมากขึ้นแล้วนะครับ
อย่าลืมนะครับ ภาษาอังกฤษยิ่งเรียนรู้ ยิ่งฝึก ก็ยิ่งเก่ง สำหรับบทความนี้ ชิววี่ต้องขอตัวลาไปก่อน See you next time